• carlo_v_6.jpg

สำนึกแห่งความเป็นแม่ลูก

โดย คุณพ่อบรรจง สันติสุขนิรันดร์

             ความรักความผูกพันที่ลูกมีต่อแม่ไม่อยู่แค่ ในความต้องการฝ่ายกาย...อาหารการกิน
การหลับนอน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ความปลอดภัย...  
            หากแต่รวมถึงทุกสิ่งที่เกี่ยวกับจิตใจ...ความอบอุ่น ความมั่นใจ  ความใกล้ชิด ความรู้สึกนึกคิด ความมุ่งมั่น


            คำชี้แนะ กำลังใจ...ที่รวมอยู่ในคำว่า “แม่”

            แต่ละครั้งที่ลูกเปล่งคำ “แม่จ๋า” ความรักความผูกพันที่ลูกมีต่อแม่  และที่แม่มีต่อลูกเปี่ยมล้นจนยากจะบรรยายได้ ทว่าบ่งบอกทุกอย่างที่แม่และลูกรับรู้เต็มจิตวิญญาณ  ถึงแม้จะไม่ได้เอื้อนเอ่ย  แต่แค่ความคิดความรู้สึกว่าแม่อยู่เคียงข้างใกล้ชิด ก็เพียงพอแล้วที่ลูกจะรู้สึกอบอุ่น มั่นใจ ปลอดภัย  

            เพราะในความเป็นจริงแล้ว แม่กับลูกนั้นเป็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้วชีวิตแม่ชีวิตลูกจึงผูกพันกัน แทบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยปริยาย

            แม้คำพูดคำจาก็บ่งบอกในนัย จะเป็นแม่ได้ก็ต้องมีลูก  จะเป็นลูกได้ต้องมีแม่...พูดว่า “แม่” จึงหมายถึง “ลูก”  พูดว่า “ลูก” จึงหมายถึง “แม่” ทุกครั้งทุกคราไป      แม่จึงต้องการลูกเพื่อเป็นแม่ ลูกจึงต้องการแม่เพื่อเป็นลูก

            กระนั้นก็ดี ความสำนึกแห่งความเป็นแม่นั้นใหญ่หลวง เป็นความสำนึกในความรับผิดชอบที่แม่ต้องเป็นแม่ของลูกจนสุดชีวิต เป็นความสำนึกในศักดิ์ศรีแห่งการเป็นแม่ แล้วนั้นเป็นความสำนึกในความรับผิดชอบที่มีต่อลูกในทุกด้าน

            กระทั่งว่า ลูกอาจจะลืมแม่ อาจจะไม่คิดถึงแม่  แต่แม่ไม่สามารถลืมลูก ไม่สามารถเลิกคิดถึงลูกได้เลย...ทุกลมหายใจเข้าออกคือลูกเพื่อลูก 

            การ์โลเข้าถึงและสัมผัสความจริงนี้ตั้งแต่แรกเกิด         
            ชีวิตการ์โลจึงเติบโตพัฒนาแต่ละอย่างก้าวแต่ละขั้นตอน ด้วยความสำนึกในความรักความผูกพันที่คุณแม่มีต่อการ์โล และที่การ์โลมีต่อคุณแม่เป็นความรักความผูกพันที่หลอมชีวิตการ์โล
สู่วุฒิภาวะได้เกินเด็กและวัยรุ่นอื่นในวัยเดียวกัน

            อันที่จริงแล้ว วุฒิภาวะมนุษย์คือวุฒิภาวะแห่งรักนั่นเอง  

            ในเวลาเดียวกันความรักความผูกพันกับคุณแม่ทำให้การ์โลเข้าใจ  และเข้าถึงความเป็นแม่ของพระมารดามารีย์

ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้เป็นมารดาของมนุษย์ทุกคนและแต่ละคน

            ความศรัทธาต่อแม่พระที่การ์โลได้รับปลูกฝังมาตั้งแต่เป็นเด็กจึงเป็นความศรัทธา

            ที่เป็นธรรมชาติ ที่เป็นรูปธรรม

            แสดงออกในการสวดสายประคำ

            แสดงออกมาในความไว้วางใจ

            แสดงออกมาในความเป็นกันเอง

            แสดงออกมาในการพึ่งพาทุกเรื่อง 

“วันทามารีย์”  สำหรับการ์โลจึงไม่ต่างกับ  “แม่จ๋า” 

สายประคำในมือจึงไม่มีไว้เพื่อสวดอย่างเดียว

หากแต่เป็นการจับมือแม่พระไว้อย่างต่อเนื่อง สายประคำในมือจึงเป็นความมั่นใจความอบอุ่นของลูกที่มีแม่จูงมือไปตลอดเส้นทาง...สามารถบอกรักแม่ สามารถพูดคุยกับแม่ได้ทุกเรื่อง

สามารถปรึกษาแม่ได้ทุกอย่าง สามารถขอกำลังใจ ขอความช่วยเหลือ ขอความคุ้มครอง
ขอความกระจ่าง...ในทุกเวลา ในทุกสถานการณ์

            เป็นความรักความผูกพันที่กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิตประจำวัน เชื่อมโยงมิติโลก
และมิติเหนือธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างลงตัว

            นอกจากตัวการ์โลเองจะรับรู้ในเรื่องนี้ พระแม่มารีย์ก็ยังทรงโปรดให้การ์โลสัมผัส
ได้อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ดังที่คุณพ่อการ์โลบันทึกไว้ในอัตชีวประวัติ 

            “ราวเที่ยงวัน พ่ออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์หน้าบ้าน  วันนั้นท้องฟ้าแจ่มใส อากาศค่อนข้างร้อน  พ่อมองไปที่แนวเนินเขาไกลออกไป กวาดสายตาจากที่หนึ่งไปยังที่อีกที่หนึ่ง แล้วหันมามองเมืองแชร์นุสโก  จากนั้นก็มองขึ้นไปที่หอระฆังวัดที่ติดกับตัววัด ทันใดพ่อเห็นภาพสตรีงดงามขนาดเท่าคนลอยอยู่ในอากาศ สตรีงดงามผู้นั้นอุ้มเด็กน้อยน่ารักในมือซ้าย ทั้งสตรีและเด็กน้อยมีมงกุฎสวมอยู่บนศีรษะ ส่วนมือขวาถือคฑาแห่งอำนาจ  สตรีนั้นก็กำลังมองลงมา พ่อจ้องมองภาพนี้อย่างเงียบๆอยู่ครู่ใหญ่ แล้วภาพก็อันตรธานไปอย่างช้าๆ  พ่อยังคงยืนมองท้องฟ้าอยู่พักใหญ่แล้วก็กลับเข้าบ้าน ไม่เข้าใจว่าสตรีงามที่อุ้มเด็กน้อยในมือเป็นใคร เพราะพ่อไม่เคยเห็นภาพนี้มาก่อนในชีวิต”  (พ่อ:อัตชีวประวัติ, หน้า 95) 

            จนกระทั่งการ์โลเข้าบ้านเณรธรรมทูตแห่งอีเวรอา และได้เห็นภาพสตรีงดงามนี้ทำด้วยกระจกสีตั้งติดอยู่ด้านบนของบันใดขึ้นลง  จึงได้สอบถามอาจารย์ภาษาลาตินและได้รับคำตอบว่า

            “เป็นรูปแม่พระองค์อุปถัมภ์ของคริสตชนที่ซาเลเซียน ให้ความเคารพนับถือเป็นพิเศษ”*