แม่คนที่สอง
โดย คุณพ่อบรรจง สันติสุขนิรันดร์
ความรักที่แม่แต่ละคนมีต่อลูกทั้งยิ่งใหญ่ทั้งเต็มเปี่ยม...เป็นความรักที่มีให้จนถึงที่สุด
ความสุขของลูกคือความสุขของแม่แต่ความทุกข์ของลูกคือความทุกข์ของแม่ยิ่งกว่า... เป็นความทุกข์ที่เห็นลูกเป็นทุกข์ เป็นความทุกข์ที่แม่ทุกข์กว่านั้นเมื่อความปรารถนาสูงสุดของแม่คือเห็นลูกมีความสุข และหากแม่เห็นลูกเป็นทุกข์แล้วแม่ช่วยอะไรไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นความทุกข์มหันต์สำหรับแม่
ในขณะที่ลูกทุกข์เพราะเป็นทุกข์ แม่กลับเป็นทุกข์เพราะลูกทุกข์และตัวแม่เองทุกข์ยิ่งกว่า
ความทุกข์ที่ต่อเนื่องอย่างหนึ่งของแม่คือ การที่ไม่สามารถให้การดูแลลูกได้ตลอดเวลาและได้ทุกแห่งอันเนื่องมาจากขีดจำกัดที่กายภาพกำหนดไว้
แม่อยากจะอยู่กับลูกตลอดเวลา รับรู้สิ่งทุกอย่างของลูก พร้อมจะร่วมแบ่งปันกับลูกในทุกอย่างแต่แม่ทำตามที่อยากไม่ได้ เพราะแม่มีชีวิตการงานและภาระที่ต้องดูแล ในเวลาเดียวกันลูกก็มีชีวิตของลูกเอง
สิ่งที่แม่ทำไม่ได้ด้วยกาย แม่จึงทำด้วยจิตใจ ด้วยความนึกคิด ด้วยความรู้สึก... อยู่กับเคียงข้างลูกด้วยใจ อยู่ในใจลูกด้วยความรู้สึกรักและเป็นห่วง...แม้ปรารถนาจะทำมากกว่านี้
และแล้วความปรารถนาของแม่ก็เป็นจริง เมื่อคำนึงว่าพระเยซูเจ้าทรงมอบพระมารดาของพระองค์ให้เป็นแม่ของเรามนุษย์
พระแม่มารีย์ผู้ทรงเป็นพระมารดาพระเจ้าและทรงเป็นแม่ของเราแต่ละคน
แม่จึงรีบฝากฝังลูกไว้กับแม่พระ วอนขอให้แม่พระรักและดูแลลูก โดยเฉพาะเมื่อแม่ไม่สามารถทำได้ โดยรู้ดีว่า ในขณะที่แม่พยายามเข้าถึงใจลูกด้วยความรักและความปรารถนาดี
แต่ก็ไม่ใช่จะทำได้เสมอไป ทว่าแม่พระทรงเข้าถึงจิตวิญญาณของลูกได้เสมอและทุกแห่ง
คุณพ่อการ์โล เดลลา โตร์เร รับรู้ถึงความจริงนี้มาตั้งแต่เล็ก คุณแม่เฝ้าตอกย้ำ เฝ้าเตือนให้การ์โลสำนึกเสมอว่า แม้คุณแม่จะรักการ์โลสุดชีวิต สุดจิตใจ สุดกำลัง แต่พระแม่มารีย์ทรงรักการ์โลมากกว่านั้นเป็นไหนๆ คุณแม่ปลูกฝังความสำนึกแห่งการเป็นลูกของแม่พระให้การ์โลในครอบครัว ในการสวดภาวนา สวดสายประคำ ในเวลาเดียวกันบรรยากาศความเลื่อมใสศรัทธาในหมู่คณะคริสตชนก็ช่วยเสริมให้ด้วยพิธีกรรม ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติ ดังที่คุณพ่อการ์โลเขียนในอัตชีวประวัติ
“วันฉลองยิ่งใหญ่และงดงามที่สุดสำหรับชาวเมืองแชร์นุสโก (Cernusco) คือวันสมโภชแม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ของวัดเสียงระฆังใหญ่หกใบบนหอระฆังประกาศและเตือนให้เตรียมฉลองล่วงหน้าเป็นเวลาแปดวัน และจะมีการย่ำระฆังทุกวันจนกระทั่งถึงวันฉลองมีการตบแต่งถนนและบ้านเรือนของเมืองแชร์นุสโกด้วยริ้วผ้าสำหรับวันฉลองสิ่งที่งดงามไปกว่านั้นก็คือการที่เห็นสัตบุรุษเตรียมการฉลองด้วยการรับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิทต่างต่อแถวยาวเพื่อรอแก้บาป...ตอนเย็นของวันฉลองชาวเมืองแชร์นุสโกเดินแห่และสวดสายประคำเป็นแถวยาวแบ่งเป็นครอบครัวพร้อมกับชมแสงจากเปลือกหอยทากที่จุดเป็นประกายตลอดระยะทางประมาณเกือบสองร้อยเมตรแสงไฟจากเปลือกหอยทากรายล้อมพระรูปแม่พระผู้ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ซึ่งเจิดจ้าด้วยไฟหอยทากทำให้ดูงดงามยิ่งนัก...” (พ่อ:อัตชีวประวัติ,หน้า 24-25)
คุณแม่มีความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ถึงแม้คุณแม่จะรักการ์โล แต่พระแม่มารีย์ทรงรักลูกของคุณแม่ยิ่งกว่า คุณแม่จึงมั่นใจว่าลูกของคุณแม่อยู่ในพระหัตถ์ทรงอำนาจและมากด้วยความรักของแม่พระ คุณแม่จึงสามารถวางใจและวางมือได้ในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต กระแสเรียกและอนาคตของลูก
วันนั้น หลังจากที่ฝึกฝนเรียนรู้ชีวิตแห่งการเป็นธรรมทูตจากบ้านเณรแล้ว การ์โลได้รับมอบหมายให้เดินทางไปเป็นธรรมทูตในต่างแดน จึงกลับมาบ้านเพื่อร่ำลาคุณแม่และพี่น้อง พร้อมทั้งเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการเดินทาง คุณแม่เก็บความรู้สึกทุกอย่างไว้ในใจคุณแม่ มีแต่ความรู้สึกเดียวที่คุณแม่ปล่อยฉายออกมาในท่าทีและใบหน้า...ความดีใจที่ลูกค้นพบและตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะติดตามพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
แม้คุณแม่จะสั่งเสียไม่กี่คำ ทว่าแต่ละคำฝังลึกในใจและในความทรงจำของการ์โลไปตลอดชีวิต ดังที่คุณพ่อการ์โลเองเขียนในอัตชีวประวัติ
“พ่อกลับบ้านและร่ำลาคุณแม่และญาติๆ...ก่อนจะออกจากบ้าน คุณแม่พูดกับพ่อว่า ‘แม่ดีใจมากที่มีโอกาสพบลูกอีกครั้ง ตั้งแต่นี้ไป ลูกจงไปในที่ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกลูก คิดถึงแม่บ้าง แต่แม่ขอร้องอย่าทิ้งงานที่พระเจ้าทรงมอบให้ลูกทำ แม้ว่าตัวแม่จะป่วยหรือตาย...’ เราแวะเข้าสวดในสักการสถานแม่พระมหาทุกข์ แล้วพ่อก็พูดกับแม่ว่า ‘ ถึงเวลาที่เราต้องจากกันแล้ว ตัวแม่พระเองก็เคยผ่านประสบการณ์แห่งการพลัดพรากจากพระบุตร เพราะฉะนั้น เมื่อลูกจากไป แม่จงอยู่เป็นเพื่อนกับแม่พระมหาทุกข์ที่นี่นะครับ’…” (พ่อ:อัตชีวประวัติ หน้า118)
ขณะที่รีบก้าวเดินสู่สถานีรถไฟ
การ์โลหันไปเห็นคุณแม่ยืนอยู่กลางถนนและหันหน้ามองมาทางสถานีรถไฟ...
ส่งใจไปกับลูกทุกย่างก้าว •