• carlo_v_12.jpg

แก่นแห่งธรรมทูต 

            เมื่อถึงเวลากำหนด พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์
มาบังเกิดเป็นมนุษย์...
            “พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์  และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา” (ยน 1,14)

            เป็นการเริ่มประวัติศาสตร์แห่งความรอดอีกหน้าหนึ่ง

            พระเจ้าทรงมาพบกับมนุษย์ด้วยตัวพระองค์เอง

            พระเจ้าทรงบังเกิดและดำเนินชีวิตเฉกเช่นมนุษย์ทุกคน

            พระเจ้าทรงเดินบนผืนดินแห่งโลกใบนี้ โลกที่พระองค์ทรงสร้าง

            เส้นแบ่งระหว่างพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์สูงสุด กับมนุษย์ผู้มีขอบเขตต่ำต้อยหายไป

            พระผู้สร้างและสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างกลายเป็นหนึ่งเดียวกันในพระบุตรผู้ทรงรับเอากาย        พระเจ้าผู้ทรงกำหนดชะตากรรมให้มนุษย์ทรงมาร่วมชะตากรรมกับมนุษย์

            ความรักของพระเจ้ากลับเป็นเลือดเนื้อในพระเยซูเจ้า...

            เป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์แห่งความรัก แห่งข่าวดีอันยิ่งใหญ่

            “แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า...แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์เหมือนเรา
ทรงแสดงองค์ในธรรมชาติมนุษย์...” (ฟป 2,6)
 

            นี่คือรูปแบบการประกาศข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกใช้

            นี่คือรูปแบบการประกาศข่าวดีที่ศิษย์ของพระเยซูเจ้าผู้สาน
ต่องานการประกาศข่าวดีต้องใช้
            ข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงนำมาประกาศจึงไม่ใช่ข่าวดีที่อยู่นอกเหนือบริบทมนุษย์และบริบทสังคมที่มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่

            เป็นข่าวดีที่รับเอากายเป็นตัวเป็นตน เป็นเลือดเนื้อ
เป็นรูปธรรมในทุกมิติของคน 

            คุณพ่อการ์โล เดลลา โตร์เร สำนึกในความจริงนี้ตั้งแต่ตัดสินใจที่จะอุทิศตนเพื่อประกาศข่าวดีของพระเจ้าให้ผู้คนในแดนธรรมทูต

            นับแต่ก้าวแรกที่เหยียบผืนแผ่นดินไทย สามเณรการ์โลสำนึกดีว่า เพื่อประกาศข่าวดีให้แก่คนไทยก็ต้องเป็นคนไทย ทั้งวิถีชีวิต ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม อาหารการกิน...

            คุณพ่อการ์โลบันทึกในอัตชีวประวัติเกี่ยวกับประสบการณ์แรกแห่งแดนธรรมทูต

“เมื่อลงจากเรือ สามเณรยอร์ช ไบนอตตี (Giorgio Bainotti) ซึ่งเดินทางล่วงหน้ามากับคุณพ่อยอห์น กาเซตตา (Giovanni Casetta) ได้พาเราไปที่บ้านไม้ยาวสองชั้น สร้างอยู่ด้านข้างวัดบางนกแขวกและบอกเราว่า “นี่คือบ้านพักของเรา”  แล้วก็พูดเสริมว่า     “ในประเทศไทย เราต้องอาบน้ำทุกวัน ดังนั้น ให้แต่ละคนเอาสิ่งจำเป็นเพื่ออาบน้ำและตามผมมา”  แล้วด้วยท่าทีราวกัปตันเรือ  เขาพาเราไปอาบน้ำคลองในสวนมะพร้าว แล้วพูดว่า “ผมจะลงไปเพื่ออาบน้ำคนเดียวก่อน หลังจากนั้นพวกเธอแต่ละคนจึงค่อยลงไปอาบน้ำ” 

พูดเสร็จ   เขาก็ลงคลองในชุดสำหรับอาบน้ำ คิดว่าจะมีน้ำในคลองสูงหกสิบเซนติเมตร ตอนกลางคืน น้ำในคลองดูเหมือนจะสะอาด แต่ในความเป็นจริงแล้วน้ำจะใสแค่สามสิบเซนติเมตร   อีกสามสิบเซนติเมตรก็จะเป็นโคลนที่ละลายอยู่ในน้ำ สามเณรไบนอตตี (Bainotti) ลงน้ำในคลองจนถึงบ่าพร้อมกับบอกว่ามีโคลนมากกว่าน้ำ 

และเมื่อเห็นว่าติดโคลนจนขยับเขยื้อนตัวไม่ได้ก็ยกมือขอความช่วยเหลือ   เมื่อถูกดึงขึ้นจากคลองแล้วก็หันมามองตนเอง เห็นว่ามีโคลนติดอยู่ครึ่งตัว ก็พูดว่า  “ผมลงคลองตัวสะอาดเพื่ออาบน้ำ แต่ออกจากน้ำ ตัวผมเปื้อนโคลนไปครึ่งตัว”  
(พ่อ:อัตชีวประวัติ หน้า 140-141)
 

            แม้ว่าประสบการณ์แรกแห่งการปรับตัวเข้ากับบริบทไทยมีความผิดพลาดในเชิงปฏิบัติ แต่หลังจากประเมินสถานการณ์และแก้ไขความผิดพลาดครั้งแรกนั้นแล้ว  ธรรมทูตชุดแรกยังอาบน้ำในแม่น้ำแม่กลองเหมือนชาวบ้านสมัยนั้น  ยังความทึ่งและความขบขันให้แก่ผู้พบเห็นและผู้ผ่านไปมาทางแม่น้ำ...ร่วมชีวิตกับชาวบ้าน ด้วยวิถีชีวิตแบบทุกคน 

            ประสบการณ์แรกแห่งชีวิตธรรมทูตยังคงต่อเนื่องในชีวิตของคุณพ่อการ์โล ทั้งเมื่อยังเป็นสามเณร เป็นพระสงฆ์ และเป็นผู้ตั้งคณะ เพราะความสำนึกในแบบอย่างของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมทูตแรกของพระบิดาเมื่อเสด็จมาประกาศข่าวดีให้แก่มนุษย์ *