ข่าวดีที่สัมผัสได้
โดย คุณพ่อบรรจง สันติสุขนิรันดร์
ในแผนการแห่งความรักและการไถ่กู้ พระเจ้าทรงโปรดให้พระบุตรของพระองค์ลงมาเป็นมนุษย์
พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ในธรรมชาติ
และในสภาพที่มนุษย์เป็น
พระองค์สามารถเลือกที่จะบังเกิดมาเป็นมนุษย์ที่แตกต่าง
และสูงส่งกว่าที่มนุษย์เป็นก็ได้
เช่นว่า พระองค์สามารถเลือกธรรมชาติและสภาพมนุษย์ในตอนที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาให้มีพระฉายาของพระองค์และก่อนที่มนุษย์จะทำผิดพระประสงค์ของพระเจ้าก็ได้
ถึงอย่างไร พระองค์ไม่ต้องได้รับผลจากบาปกำเนิดอยู่แล้ว
แต่พระองค์ทรงประสงค์ที่จะบังเกิดมาเหมือนเรามนุษย์ในทุกอย่าง...เว้นแต่บาป ดังที่นักบุญเปาโลยืนยันไว้
ทุกอย่างที่เป็นผลแห่งบาปกำเนิดในธรรมชาติมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นขีดจำกัด ความตาย ความทุกข์ ความทรมาน ความเจ็บป่วย ความเหน็ดเหนื่อย ความหิว... พระเยซูเจ้าทรงรับผลกระทบเหมือนทุกคน
ในช่วงที่ทรงมีชีวิตอยู่ในโลก พระเยซูเจ้าต้องพบกับสิ่งเหล่านี้ในตัวของพระองค์เองและพบกับสิ่งเหล่านี้จากคนรอบข้างที่
พระองค์ทรงร่วมชีวิตและกระทำภารกิจ
ทรงเหน็ดเหนื่อย ทรงรู้สึกท้อแท้ ทรงผิดหวัง ทรงเศร้า
ทรงเสียใจ ทรงหิว ทรงกระหาย
แต่ละอย่างเป็นชะตากรรมมนุษย์ที่เป็นผลจากบาปกำเนิด
ในเวลาเดียวกัน ทรงต้องพบกับความเกลียดชัง ความอิจฉา การว่าร้ายใส่ความ การเป็นอริ แม้กระทั่งการสาปแช่งจากคนรอบข้าง
แต่ละอย่างเป็นผลของบาปที่อยู่ในธรรมชาติมนุษย์
กระนั้นก็ดี ในความเป็นพระเจ้า พระองค์ทรงรับทนไม่ใช่แค่รับทน หากแต่ทรงรับทนเพราะเห็นแก่ความรักที่ทรงมีต่อพระเจ้าและทรงมีต่อเรา ในเวลาเดียวกันก็ทรงถือว่าทุกสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งการรับเอากายเป็นมนุษย์ของพระองค์และเป็นองค์ประกอบแห่งพันธกิจแห่งการประกาศข่าวดีของพระเจ้าและการไถ่กู้มนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป
ตามแผนการของพระบิดา
คุณพ่อการ์โล เดลลา โตร์เร ในฐานะธรรมทูตผู้สานต่องานประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้าสำนึกในเรื่องนี้ดี
ธรรมทูตคือผู้นำข่าวดีของพระเจ้าเพื่อทำให้ข่าวดีรับเอากายเป็นตัวเป็นตนในชีวิต
ของธรรมทูตก่อนอื่นหมด แล้วนั้นในชีวิตผู้คนในบริบทแห่งสังคมนั้นๆ
เพื่อการนี้ ธรรมทูตจึงต้องรับเอากายในวัฒนธรรม ในบริบท ในขนบธรรมเนียม ในประเพณี ในชีวิตความเป็นอยู่ ในชะตากรรมของผู้คน ตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า
ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ของพระบิดา
นอกจากเรื่องความเป็นอยู่แบบชาวบ้านแล้ว คุณพ่อการ์โลและเพื่อนธรรมทูตยังต้องพบกับความยากลำบาก ด้านอาหารการกินที่แตกต่างจากอาหารที่เคยกินในบ้านเกิดเมืองนอนอีก
ดังที่คุณพ่อการ์โลบันทึกในอัตชีวประวัติ
“เราจึงเริ่มทำครัวเองทั้งหมด เพราะไม่มีใครพูดภาษาท้องถิ่นได้
และไม่มีใครรับผิดชอบโดยตรง ดังนั้น อาหารประจำวันจึงไม่เพียงพอ
แถมยังต้องเสียเงินมาก
ในเวลาไม่กี่เดือน อาหารไม่เพียงพอและปรุงไม่ดีทำให้สามเณรเป็นลม
เมื่อเริ่มเรียน เสียงระฆังเวลาเก้าโมงเช้าเตือนให้สามเณรและนวกชน
เข้าห้องเรียน แต่สามเณรและนวกชนส่วนใหญ่ยังคงนอนอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบ แทนที่จะลุกขึ้น
พวกเขาพากันตอบว่า “ผมหิว รู้สึกเวียนหัว” และไม่ยอมลุกขึ้น การละเล่น การร้องเพลง
และความยินดีอันตรธานหายไปจากบ้าน สามเณรไม่เดินคุยกันหลังอาหารเช้า
หลังอาหารเที่ยง และหลังอาหารเย็น ไม่มีการหยอกล้อกัน ไม่มีเสียงหัวเราะ
ต่างพากันนั่งใต้ต้นจามจุรีเป็นกลุ่มละสองหรือสามคน หน้าตาซูบซีด
รอเสียงระฆังเพื่อจะได้ไปนอนบนเก้าอี้ผ้าใบหรือบนเตียง”
(พ่อ:อัตชีวประวัติหน้า 146)
ในฐานะที่เคยเป็นทหารมาก่อนและคุ้นเคยกับความยากลำบากด้านการกินการอยู่
คุณพ่อการ์โลไม่เพียงแต่จะสังเกตเห็นสถานการณ์ย่ำแย่ในขณะนั้น
แต่วิเคราะห์ต้นเหตุที่มาที่ไป กระทั่งพบว่าคนทำครัวไม่มีความสามารถอย่างที่ควรมี
ในเวลาเดียวกัน การจับจ่ายซื้อกับข้าวก็แพงเกินเหตุ
ดังนั้น พอคุณพ่ออธิการขอร้องให้เณรการ์โลเข้าไปช่วยดูแลในครัว
และดูแลเรื่องอาหารการกิน เณรการ์โลตอบรับด้วยความเต็มใจ
แม้จะต้องลำบากมากกว่าเณรอื่นๆ ทั้งนี้และทั้งนั้น
เพื่อเห็นแก่ความรักต่อทุกคน *